ร้านนฤมลเภสัช
ได้จัดทำเวปนี้ขึ้นเพื่อเป็นสื่อในการให้ความรู้เกี่ยวกับ ยา

วิธีการใช้ ต่างๆ รวมถึงในเรื่องการดูแลสุขภาพ

และขอเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ ของชมรมร้านขายยาจังหวัดลำปาง

และรวบรวมสาระน่ารู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ

เว็บสุขภาพ เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพดี

ข้อความ

พร้อมที่จะดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข

เพื่อต้องการให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี

ร้านนฤมลเภสัช
ได้จัดทำเวปนี้ขึ้นเพื่อเป็นสื่อในการให้ความรู้เกี่ยวกับ ยา

วิธีการใช้ ต่างๆ รวมถึงในเรื่องการดูแลสุขภาพ

และขอเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ ของชมรมร้านขายยาจังหวัดลำปาง

และรวบรวมสาระน่ารู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ

เว็บสุขภาพ เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพดี

ข้อความ

พร้อมที่จะดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข

เพื่อต้องการให้ทุกคนมีสุขภาพที่ดี





ร้านนฤมลเภสัช
ได้จัดทำเวปนี้ขึ้นเพื่อเป็นสื่อในการให้ความรู้เกี่ยวกับ ยา วิธีการใช้ ต่างๆ รวมถึงในเรื่องการดูแลสุขภาพ และขอเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ ของชมรมร้านขายยาจังหวัดลำปาง และรวบรวมสาระน่ารู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ เว็บสุขภาพ เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพดี พร้อมที่จะดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข

พิษร้ายของสเตียรอยด์

สเตียรอยด์ในร่างกาย
การที่ร่างกายสามารถรับสเตียรอยด์ได้เนื่องจากร่างกายเองก็มีการสร้างสเตียรอยด์ออกมาก เพื่อควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย โดยมีการควบคุมมาจากสมองมายังต่อมหมวกไต เพื่อหลั่งสารสเตียรอยด์ออกมา ซึ่งร่างกายจะนำไปใช้ในการควบคุมการทำงานของระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวเพื่อเอาชีวิตรอด
พิษร้ายของสเตียรอยด์
แม้ว่าในทางการแพทย์สเตียรอยด์จะมีข้อบ่งชี้ทางการรักษามากมาย แต่ไม่ควรซื้อยานี้ใช้เองโดยไม่มีแพทย์คอยดูแลการใช้ยา เนื่องจากผลข้างเคียงของสเตียรอยด์นั้นมีมากมายเช่นกัน ได้แก่

เลือดออกในกระเพาะอาหาร เนื่องจากสเตียรอยด์ไปทำให้ผนังกระเพาะอาหารและลำไส้บางลง และเสียความสามารถในการป้องกันกรดในทางเดินอาหารที่หลั่งมาเพื่อย่อยอาหาร ดังนั้นหากได้สเตียรอยด์ไปนานๆ ผนังทางเดินอาหารก็จะบางตัวลงจนถึงขั้นทะลุ และเกิดแผลเลือดออกได้ หากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงทีก็เสียชีวิตได้
กระดูกบาง การใช้สเตียรอยด์จะไปกระตุ้นเซลล์ในกระดูกชนิดหนึ่งร่วมกับกระตุ้นระบบฮอร์โมน ทำให้กระดูกถูกละลายบางลง ซึ่งในคนสูงอายุก็จะลงท้ายด้วยกระดูกพรุนและเกิดกระดูกหักได้ง่าย
ร่างกายหยุดสร้างสเตียรอยด์ เพราะได้สเตียรอยด์จากภายนอกไปมากพอแล้ว และหากวันใดไม่ได้รับสเตียรอยด์จากภายนอกเข้าไป แล้วเจอเรื่องเครียด (เจ็บป่วย อดอาหาร เครียด) ร่างกายก็จะขาดสเตียรอยด์อย่างฉับพลัน และไม่สามารถปรับตัวได้ทัน อาจทำให้ความดันโลหิตตกลง หมดสติ และเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว
กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย บดบังอาการติดเชื้อต่างๆ เมื่อร่างกายติดเชื้อก็จะไม่มีอาการเจ็บไข้ให้เห็น ทำให้ดูเหมือนสบายดี และเนื่องจากสเตียรอยด์กดภูมิคุ้มกันของร่างกายเอาไว้ ดังนั้นกว่าจะรู้สึกอีกที เชื้อโรคก็เจริญเติบโตเริงร่าไปทั่วร่างกายแล้ว ซึ่งทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตได้
ยับยั้งการเติบโตในเด็ก ทำให้เด็กโตช้าและหยุดสูงเร็วกว่าปกติ อันนี้ไม่ถึงขั้นเสียชีวิต แต่เลี้ยงไม่โต
น้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงในผู้ป่วยเบาหวาน หรือทำให้ระดับน้ำตาลควบคุมได้ยาก หากน้ำตาลอยู่ในระดับสูงมากอาจทำให้ช็อคและเสียชีวิตได้

โดยปกติ ยาสเตียรอยด์ถูกจัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ไม่สามารถขายแม้ในร้านขายยาได้หากไม่มีใบสั่งยาจากแพทย์ และโดยทั่วไปก็ไม่มีแพทย์คนไหนสั่งสเตียรอยด์ให้คนไข้สุ่มสี่สุ่มห้า เพราะว่าในที่สุด ผลสุดท้ายที่ออกมาก็คือการรักษาจะไม่ดีขึ้นในระยะยาว กล้าพูดได้ว่าสเตียรอยด์ที่คนไทยใช้กันผิดๆ อย่างต่อเนื่องที่ได้รับโดยตรงจากเภสัชกรหรือแพทย์นับว่ามีน้อยมาก แต่เมื่อพบผู้ที่ใช้สเตียรอยด์มาต่อเนื่องยาวนาน กลับพบว่าส่วนใหญ่มักมีความเชื่อว่าเภสัชกรหรือแพทย์นั่นแหละที่แอบจ่ายยาสเตียรอยด์ให้เขาโดยไม่บอก ไม่รู้ว่าตนเองไปโดนมาจากไหน หรือแม้แต่ไม่เชื่อว่าของที่กินอยู่นั่นแหละที่ผสมสเตียรอยด์
แหล่งสเตียรอยด์ที่สำคัญของคนไทย
แหล่งสเตียรอยด์ที่สำคัญของคนไทย คือ ยาสมุนไพร ยาแผนโบราณ ยาลูกกลอน ยาพระ ยาต้ม ยาหม้อ ยาชุด
ยาลูกกลอน ยาสมุนไพร ยาต้ม ยาหม้อ
ในที่นี้มิได้มีเจตนาดูถูกภูมิปัญญาชาวบ้านนะคะ เพราะที่ดีก็มีอยู่จำนวนมาก แต่เนื่องจากปัจจุบันผู้ค้าบางรายชอบหยิบเอาประเด็นสมุนไพร และภูมิปัญญาชาวบ้านมาแอบอ้างใช้เป็นเกราะป้องกันตัว เวลาทำการโฆษณาขายยาตามหมู่บ้าน โดยอวดอ้างว่าแพทย์แผนปัจจุบันไม่มีความรู้ และดูถูกยาเหล่านี้เพราะเป็นยาพื้นบ้านของไทย การขายยากลุ่มนี้ ถ้าแบบไม่ลงทุนก็ขายเป็นยาลูกกลอน ถ้าลงทุนนิดนึงก็ขายเป็นยาหม้อหรือยาสมุนไพร
ยาลูกกลอนของเขาก็เอาพืชผักอะไรก็ไม่รู้ บางทีก็เป็นสมุนไพรจริงนำมาตากบดเป็นผงละเอียด มาปนกับผงยาสเตียรอยด์ จากนั้นผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลมๆ เป็นอันเสร็จพิธี ข้อเสียของการขายแบบนี้คือ ประชาชนหลายคนถูกปลูกฝังตั้งแต่ยุคสิบกว่าปีก่อนที่มีการรณรงค์เรื่องยาชุดว่า มีกลวิธีผสมสเตียรอยด์แบบนี้ในยาลูกกลอน ดังนั้นจะมีลูกค้าบางส่วนไม่ซื้อ ผู้ค้าที่ฉลาดบางรายจึงเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่เป็นการนำสมุนไพร ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือกิ่งไม้ข้างทาง เถาไม้เลื้อยบางชนิด ใบไม้แห้งต่างๆ มารวมกัน เอาไปผ่านกรรมวิธีอาบน้ำยาสเตียรอยด์ ก่อนจะนำไปตากแห้งแล้วแต่งสีให้ดูปกติ แล้วเอามารวมเป็นชุดๆ ขายให้คนที่หลงเชื่อซื้อเอาไปต้ม พอต้มแล้วเอาน้ำมาดื่ม ซึ่งมีค่าเท่ากับดื่มยาสเตียรอยด์เข้าไปนั่นเอง
ยาพระ
สเตียรอยด์อาจมาในอีกรูปแบบโดยอ้างว่าเป็น ยาพระ โดยมีทั้งพระจริง และพระปลอม พระปลอมก็อย่างเช่น การอ้างเกจิอาจารย์ดังๆ ในอดีต หรืออุปโลกน์พระที่ไม่มีตัวตนขึ้นมาแล้วอ้างตำราของท่านเหล่านั้น ถ้าให้น่าเชื่อถือก็อ้างส่วนผสมแล้วใช้คำไทยๆ เช่น เกสรทั้ง 5 รากทั้ง 6 ลำต้นทั้ง 7 อะไรทำนองนี้ เอามาแปะไว้หน้าห่อ พระจริง มีทั้งแบบที่พระทำเอง หรือแบบที่คนทำเอามาฝากขายตามวัด หรือคนทำเอาไปหลอกพระที่วัดเพื่อเอาพระเหล่านั้น มาเป็นสโลแกนว่าเป็นยาโบราณ พวกนี้ผิดกฎหมายแถมยังบาปอีกต่างหาก
ยาชุด
ยาชุดในที่นี้ขอให้แยกจากยาชุดที่แพทย์หรือเภสัชกรซึ่งมีการระบุชื่อยาไว้อย่างชัดเจน ให้นึกถึงยาหลากหลายสีในถุงยาใสเล็กๆ วิธีกินคือ กินทีละซอง พวกนี้ชอบขายตามร้านของชำ ปั๊มเล็กๆ หรือร้านยาที่ไม่มีเภสัชกรประจำร้าน โดยจะมีตัวแทนจำหน่ายนำมาส่งต่อให้ร้านเหล่านี้อีกที โดยอ้างสรรพคุณครอบจักรวาล ทั้งแก้ปวดเมื่อย กษัยเส้น ช่วยเจริญอาหาร ที่ร้ายก็คือ คนพวกนี้ชอบอ้างสรรพคุณว่าเป็นยาบำรุง ไม่ใช่ยาชุดและบางครั้งยังใส่ความเชื่อผิดๆ ว่ายาชุดที่กระทรวงสาธารณสุขปราบปรามคือ เป็นยาที่แพทย์และเภสัชกรสั่งให้ในคลินิก โรงพยาบาล หรือร้านขายยา แล้วแอบผสมสเตียรอยด์ลงไป
สรุปว่าไม่ว่าจะเป็นยาอะไรจากใครก็ตาม หากคุณเห็นว่าใส่รวมๆ กันไม่มีชื่อยาก็ขอให้ถาม ชื่อยา จากคนที่เอายาให้ อย่าเกรงใจกลัวเขาจะว่า เพราะนั่นเป็นสิทธิผู้ป่วยที่คุณสมควรรับทราบ แต่ถ้าถามชื่อยาแล้วกลับบอกแค่ว่าเป็นยารักษาอาการอะไร ประมาณว่า ยา ชื่อ อาการ เช่น ยาลดปวด ยาลดบวมข้อ ยาเส้น ยาแก้ไอ เป็นต้น ก็ให้คิดเผื่อใจไว้เลยว่าคุณอาจจะเจอยาชุดของจริงเข้าให้แล้ว
ยานี้มี อย.
กานำเสนอแบบนี้นับเป็นรูปแบบใหม่ที่กำลังได้รับการนิยม โดยมีทั้งบอกปากเปล่าหน้าตาเฉยว่า ยาของเราไม่ผสมสเตียรอยด์ และได้รับการับรองจาก อย. แล้ว หรือแบบที่ร้ายกว่านั้นทำตรา อย. ปลอมเองก็มี ซึ่งก็เป็นกลวิธีหนึ่งที่ทำให้ลูกค้า (ผู้ป่วย) มาเถียงกับแพทย์ว่าไม่ได้กินสเตียรอยด์หรอกเพราะมี อย. แต่พอนำไปทดสอบกลับตรวจพบสารสเตียรอยด์
ยาสเตียรอยด์มีประโยชน์ในทางการแพทย์มากมาย แต่ผลข้างเคียง (พิษ) ของยานั้นก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ดังนั้นไม่ควรซื้อยามารับประทานเองอย่างเด็ดขาด การใช้ยาสเตียรอยด์ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังต้องระมัดระวังสเตียรอยด์ที่อาจแฝงมาในรูปของยาสมุนไพร ยาต้ม ยาหม้อ ยาลูกกลอน ยาพระ อาหารเสริมสุขภาพ รวมถึงยาบำรุงกำลังต่างๆ ซึ่งกรณีที่ท่านมีความต้องการที่จะรับประทานยาเหล่านี้จริงๆ ท่านควรนำไปทดสอบหาสารสเตียรอยด์ที่หน่วยงานของรัฐที่รับทดสอบ ซึ่งได้แก่ กรมวิทยาศาสตร์สุขภาพ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลประจำจังหวัดต่างๆ เสียก่อน

พิษของพารา...ใครว่าธรรมดา

ในสมัยโบราณมีการใช้เปลือกต้นหลิว (willow) เป็นยาลดไข้ (antipyretic) และมีการค้นพบสารเคมีในเปลือกต้นหลิวคือ ซาลิซิน (salicins) ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นแอสไพริน (aspirin) ได้ นอกจากนี้ยังค้นพบว่าในเปลือกซิงโคนา (cinchona) มีควินิน (quinine) ที่มีฤทธิ์เป็นยาแก้ไข้ได้ซึ่งต่อมาถูกนำมาใช้เป็นยารักษามาลาเรีย

ในปี ค.ศ. 1880 เกิดภาวะขาดแคลนต้นซิงโคนา จึงได้มีคนพยายามที่จะหาทางเลือกสำหรับยาลดไข้ จนมีการค้นพบยาลดไข้ตัวใหม่คือ
     • ปี ค.ศ. 1886 พบ อะซิตานิไลด์ (acetanilide)
     • ปี ค.ศ. 1887 พบ ฟีนาซิตีน (Phenacetin)

ขณะเดียวกันในปี ค.ศ. 1873 ฮาร์มอน นอร์ทรอป มอร์ส (Harmon Northrop Morse) ก็สามารถสังเคราะห์ พาราเซตามอล โดยปฏิกิริยารีดักชั่น พารา-ไนโตรฟีนอล (p-nitrophenol) กับดีบุกในกรดอะซิติก (acetic acid) แต่ก็ยังไม่มีการนำพาราเซตามอลมาใช้เป็นยาลดไข้ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1893 ได้มีการตรวจพบพาราเซตามอลในปัสสาวะของผู้ที่ใช้ยาฟีนาซิตีน และยังค้นพบว่าอะซิตานิไลด์ จะถูกเปลี่ยนเป็นพาราเซตามอลในร่างกายก่อนจึงสามารถออกฤทธิ์ลดไข้ได้ในปี ค.ศ. 1899

เนื่องจาก พาราเซตามอล (paracetamol) หรือ อะเซตามิโนเฟน (acetaminophen) เป็นยาบรรเทาอาการปวด (analgesics) ไม่มีผลข้างเคียงเรื่องการระคายเคืองผนังกระเพาะอาหาร และการแข็งตัวของเลือดเหมือนยากลุ่มเอ็นเซด (non-steroidal anti-inflammatory; NSAIDs) เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หากใช้ในขนาดการรักษาปกติ ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่ค่อยรู้พิษสงของยานี้เท่าไหร่ นอกจากนี้ยังสามารถหาซื้อได้ง่ายโดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ เป็นเหตุให้ปริมาณการใช้ยาตัวนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พาราเซตามอลกลายเป็นยาประจำบ้านที่ขายดิบขายดี เป็นอะไรก็กินแต่พาราเซตามอล ปวดศีรษะ ไข้หวัด ก็พาราเซตามอล ปวดหลัง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ก็พาราเซตามอล ยิ่งกว่านั้นบางรายปวดท้อง เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ก็กินพาราเซตามอล ซึ่งพาราเซตามอลก็คงไม่ได้ช่วยอะไร ทำได้แค่ให้สบายใจขึ้นเพราะได้กินยาแล้ว บ้างก็มัวแต่ผลัดวันประกันพรุ่ง ไม่ยอมไปหาหมอรักษากัน พลอยทำให้โรคที่เป็นลุกลามมากขึ้น ต้องเสียเงินรักษามากขึ้นโดยใช่เหตุ

ในหลายประเทศได้แก่ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ได้มีการสำรวจวิจัยพบว่ามีการใช้ ยาพาราเซตามอลเกินขนาดมากขึ้นทุกปี และมีผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากการเกิดพิษของพาราเซตามอลจำนวนมาก จนน่าตกใจจนต้องออกมารณรงค์ให้ใช้ยาพาราเซตามอลเฉพาะเมื่อมีความจำเป็น และเผยแพร่ความรู้เรื่องพิษของยาให้ประชาชนตระหนักมากยิ่งขึ้นผ่านสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โทรทัศน์ วิทยุ ใบปลิว เอกสารกำกับยา หรืออินเตอร์เน็ต

อันตรายจากการใช้ยาพาราเซตามอล ที่พบได้มากที่สุด คือ พิษต่อตับ ทำให้ตับวาย รองมาเป็นเรื่องของการเกิดปฏิกิริยากับยาอื่น หรือตีกับยาอื่นนั้นเอง ซึ่งเกิดขึ้นจากความตั้งใจและไม่ตั้งใจ
ที่เกิดจากความตั้งใจ ทุกคนคงทราบกันดี นั่นคือ การกินพาราเซตามอลประชดชีวิต การฆ่าตัวตาย ซึ่งบางรายก็แค่ต้องการประท้วง เรียกร้องความสนใจ นึกว่าพิษของพาราเซตามอลเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้นเพราะพาราเซตามอลจะทำให้ตับเสียการทำงานหรือตับวายได้ ซึ่งหากได้รับยาต้านพิษไม่ทันเวลาก็จะทำให้เสียชิวิตได้
ที่เกิดจากความไม่ตั้งใจ เนื่องจากพาราเซตามอลที่ผลิตออกจำหน่ายในปัจจุบันนั้นมีหลายรูปแบบ หลายความแรง หลายยี่ห้อ ซึ่งเป็นการยากที่ประชาชนทั่วไปจะทราบ ได้แก่ รูปของยาเม็ด ยาน้ำเชื่อม และการนำพาราเซตามอลไปผสมกับยาอื่นๆ ได้แก่ ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้หวัด ยาแก้ปวด เป็นต้น ทำให้เกิดการกินยาซ้ำซ้อน โดยไม่รู้ตัว หากเป็นระยะเวลาไม่นานแค่ 2 ถึง 3 วันก็ยังพอไหว หากระยะเวลานานเป็นเดือนการเกิดพิษต่อตับคงเกิดอย่างแน่นอน ดังนั้นทางที่ดี ก่อนกินยาอะไรควรอ่านฉลากยาให้ละเอียดเสียก่อน และหากไม่แน่ใจว่าเป็นยาอะไร เป็นยาสูตรผสมหรือไม่ ก็ควรปรึกษาเภสัชกร หรือแพทย์ก่อนทุกครั้ง
เรื่องที่น่าคิดอีกเรื่อง คือ การกินพาราเซตามอลร่วมกับเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า ไวน์ รัม ยีน หรือ เบียร์ เพราะตัวแอลกอฮอล์เองเป็นที่ทราบกันดีว่าหากได้รับในปริมาณมาก หรือต่อเนื่องกันนานๆ ก็ทำให้เกิดภาวะตับแข็ง ตับวายได้ หากกินร่วมกับพาราเซตามอลก็จะเท่ากับเป็นการเหยียบคันเร่งให้ตับพังได้เร็วยิ่งขึ้น คณะกรรมการอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกกฎหมายให้มีการพิมพ์คำเตือนบนฉลากยาพาราเซตามอลว่า “ ห้ามรับประทานร่วมกับเครื่องดื่มที่ผสม แอลกอฮอล์ ” เนื่องจากเกิดคดีพิพากษาเกี่ยวกับการกินยาพาราเซตามอลร่วมกับไวน์เป็นประจำของชาวเวอร์จิเนียรายหนึ่งจนทำให้ตับวาย จนต้องมีการปลูกถ่ายตับใหม่ บริษัทผู้ผลิตยาแพ้คดีต้องจ่ายเงินชดใช้ถึง 8 ล้านดอลลาร์

เรื่องสุดท้ายที่อยากจะเตือนคุณผู้อ่านก็คือ เรื่องของยาตีกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้จริง แต่เดิมไม่เคยมีใครคิดถึงเรื่องนี้เลย คิดว่าพาราเซตามอลเป็นยาสามัญประจำบ้าน ไม่มีพิษสงอะไร ไม่ตีกับยาอื่น แต่ปัจจุบันไม่ใช่แล้ว เนื่องจากระยะหลังนักวิจัยได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เพราะคนใช้ยาพาราเซตามอลมากขึ้น ยังกับพาราเซตามอลเป็นขนมอย่างนั้นแหละ ตัวอย่างหนึ่งที่ดิฉันพบเองก็คือ พาราเซตามอลตีกับยาต้านการแข็งตัวของเลือดตัวหนึ่งในผู้ที่เป็นเลือดข้น กล่าวคือพาราเซตามอลทำให้เลือดแข็งตัวช้าลงได้ หากได้รับในปริมาณมาก อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ซึ่งเท่ากับไปเสริมฤทธิ์ของยาต้านการแข็งตัวของเลือด จนทำให้ผู้นั้นเกิดเลือดออกผิดปกติขึ้น
ทางที่ดีคุณควรใช้ยาพาราเซตามอลเท่าที่จำเป็นในขนาดการรักษาปกติ คือ ยาพาราเซตามอล 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (เช่น น้ำหนัก 50 กิโลกรัม ก็กินแค่ยาเม็ดขนาด 500 มิลลิกรัม 1 เม็ด ก็เพียงพอ) และหากไม่มีอาการแล้วก็ควรหยุดกินยาทันที หรือหากใช้ยาติดต่อกันเป็นระยะเวลาประมาณ 3-4 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยเพิ่มเติมจะดีกว่าเพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง
แหล่งข้อมูล : นิตยสาร - HealthToday